ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อระบบสมองและความจำ

ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อระบบสมองและความจำ

ถ้าพูดถึงเรื่องของจุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย หลายๆคนอาจนึกถึงตัวการก่อโรคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายของมนุษย์ แต่ในความจริงแล้วร่างกายของมนุษย์เรานั้นเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ขนาดเล็กหลากหลายชนิดมากถึง 40 ล้านล้านตัว ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น จุลินทรีย์ชนิดร้าย หรือจุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ อีกชนิดหนึ่งคือจุลินทรีย์ชนิดดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมีส่วนช่วยให้ร่างกายทำงานได้ปกติและแข็งแรง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จุลินทรีย์ในร่างกายของคนเราจะอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารและระบบต่าง ๆ โดยไม่ได้มีผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์เราแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม จากการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงประโยชย์ของจุลินทรีย์ขนาดเล็กเหล่านี้ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้จะทำความรู้จักกับจุลินทรีย์ขนาดเล็กจำพวก โพรไบโอติกส์ (Probiotics) แลทราบถึงประโยชน์ต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบสมองและความจำ

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร

โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตขนาดเล็กซึ่งจัดเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารและระบบต่าง ๆของร่างกาย เมื่อร่างกายของคนเรามีปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีที่เหมาะสม จะส่งผลให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ เนื่องจากจุลินทรีย์เหล่านี้มีส่วนช่วยในการลดจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีให้มีจำนวนลดน้อยลง ช่วยลดอาหารท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย ช่วยดูดซึมสารอาหาร ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน และการรักษาภาวะที่ผิดปกติของร่างกายได้ ตัวอย่างของโพรไบโอติกส์ เช่น  Lactobacillus, Bifidobacteria, Streptococcus thermophilus เป็นต้น

ที่มา: Shutterstock

เราสามารถรับจุลินทรีย์จำพวกโพรไบโอติกส์เหล่านี้ได้จากการรับประทานอาหาร ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูงเป็นประจำอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยปรับสมดุลของลำไส้ และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ตัวอย่างของอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง เช่น โยเกิร์ต ผักดอง กิมจิ มิโซะ น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล คอทเทจชีส พาร์มีซานชีส ดาร์กช็อกโกแลต คอมบูชา และเทมเป้ เป็นต้น

ที่มา: https://www.cleaneatingkitchen.com

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย พบได้ในหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น

กล่าวง่ายๆ ก็คือ พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์นั่นเอง ดังนั้นหากรับประทานอาหารพวกพรีไบโอติกส์ก็จะช่วยส่งเสริมฤทธิ์โพรไบโอติกส์ได้ดียิ่งขึ้น

ประโยชน์ของจุลินทรีย์ในลําไส้ (Gut Microbiota) ต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

จุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiota) หรือโพรไบโอติกส์มีความสำคัญต่อระบบต่างๆในร่างกาย โดยประโยชน์ของโพรไบโอติกส์นั้นมีหลากหลายและเกี่ยวข้องกับระบบต่าง ๆ ดังนี้

  1. ช่วยในการย่อยใยอาหาร (Fiber) แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้มีหน้าที่ในการย่อยใยอาหาร และผลิตกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acids)  ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพของระบบย่อยอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น
  2. ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) โพรไบโอติกส์มีส่วนช่วยในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันแบบเมือก (mucosal immune system (MIS) ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหลุดลอดจากทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนั้นยังช่วยปรับ pH ในลำไส้และสร้างกรดอะซิติกและกรดแลคติก (acetic acid and lactic acid) เพื่อช่วยป้องกันการตั้งรกรากของแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดในลำไส้ เช่น เชื้อ H.Pylori  lactic, Clostridium perfringens, Salmonella เป็นต้น
  3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในร่างกาย โดยโพรไบโอติกส์ชนิด Lactobacillus acidophilus ซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่ม Bifidobacteria ที่อยู่ในลำไส้จะช่วยย่อยสลายและยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลผ่านผนังลำไส้
  4. ช่วยในการดูดซึมสารอาหาร โดยโพรไบโอติกส์จะผลิตเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการย่อยอาหาร เช่น เอนไซม์ไลเปส ( Lipase ) ที่ช่วยในการย่อยไขมัน เอนไซม์โปติเอส ( Proteases ) ช่วยในการย่อยโปรตีนจึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ได้มากขึ้น
  5. ป้องกันอาการท้องผูก เนื่องจากโพรไบโอติกส์ชนิด Bifidobacterium สามารถผลิตกรดอินทรีย์ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวมากขึ้นและช่วยเพิ่มความชื้นแก่กากอุจจาระ จึงสามารถขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น ป้องกันการเกิดอาหารท้องผูกได้
  6. ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบสมอง จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาแสดงถึงประโยชน์ของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) ซึ่งส่งผลต่อการทำงานโดยรวมของระบบสมอง การตอบสนองต่อความเครียด กังวล อารมณ์ และการรับรู้
  7. ช่วยในการควบคุม/ลดน้ำหนัก โพรไบโอติกส์ช่วยยับยั้งการดูดซึมของไขมันจากอาหารและเพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมันและลดการสะสมของไขมันในร่างกายอีกด้วย
ที่มา: https://www.fitnescity.com/blog/microbe-rich-foods-and-probiotics

มาทำความรู้จักกับสมองที่ 2 ของร่างกาย

อาหารโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อการทำงานของสมองและพัฒนาความจำ หลายๆ คนคงทราบอยู่แล้วว่าสมองมีหน้าที่ในการควบคุมระบบต่างๆในร่างกาย กำหนดการเคลื่อนไหว ความคิด และความจำ แต่มีอยู่หนึ่งอวัยวะที่มีความสำคัญไม่แพ้กันจนได้รับการขนานนามว่า “สมองที่ 2 ของร่างกาย” นั่นก็คือระบบทางเดินอาหารนั่นเอง โดยระบบทางเดินอาหารและสมองสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ เรียกว่า  Gut-brain axis  โดยทำงานผ่านระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system: CNS) และระบบประสาทที่ลำไส้ (enteric nervous system: ENS) ซึ่งภายในลำไส้มีเซลล์ประสาทหล่อเลี้ยงหลายล้านเซลล์ และสามารถทำงานได้อย่างอิสระจากสมอง รวมทั้งจุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดสามารถผลิตสารเคมีบางชนิดได้เหมือนกับสมอง ซึ่งเราเรียกว่า สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ตัวอย่างเช่น ซิโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งช่วยควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ความหิว ความอิ่ม การนอนหลับ อารมณ์ทางเพศ และความรู้สึกสงบสุขอีกด้วย ดังนั้นหากเราดูแลระบบทางเดินอาหารได้ไม่ดี ทานอาหารที่ไม่สะอาด ปนเปื้อน หรือมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาที่ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งนั่นอาจส่งให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด ระบบภูมิคุ้มกันตก และปัญหาอื่น ๆ ตามมามากมาย

การศึกษาล่าสุดจาก Harvard Medical School ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยที่แสดงถึงประโยชน์ของการรับประทานอาหารโพรไบโอติกส์ในการช่วยให้อารมณ์ดีและเพิ่มความจำได้ โดยทำการทดลองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ที่ทานอาหารโพรไบโอติกส์ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ พบว่ามีความจำดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทาน นอกจากนั้นการทดลองในผู้หญิงที่ทานอาหารโพรไบโอติกส์ 2 ครั้งต่อวัน 4 สัปดาห์ต่อเนื่องนั้น พบว่าสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์กระตุ้มอารมณ์โกรธและโมโห 

ที่มา: Harvard Medical School

โพรไบโอติกส์เป็นตัวเลือกที่สำคัญในการเสริมสุขภาพของระบบสมองและความจำได้หรือไม่ ถึงแม้จะมีการศึกษาถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อระบบสมองและความจำจะยังไม่มากและชัดเจนเท่าที่ควร แต่มีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหัวใจและไหลเวียนเลือด เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยชัดเจนที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของการมีสุขภาพลำไส้ที่ดี ส่งผลกระตุ้นการทำงานระบบสมองได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารโพรไบโอติกส์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลร่างกาย ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ซึ่งการเลือกรับประทานโพรไบโอติกส์นั้นควรเลือกรับประทานจากอาหารธรรมชาติเป็นหลัก เช่น โยเกิร์ต กิมจิ ผักดอง เป็นต้น ถ้าจะเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรเลือกที่ระบุสายพันธุ์ที่ชัดเจนและหลากหลาย ระบุวิธีรับประทานและวิธีเก็บรักษาที่ชัดเจน และสุดท้ายควรเลือกที่มีการเสริมพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ร่วมด้วยซึ่งจะช่วยในการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ โดยเราจะนิยมเรียกสูตรนี้ว่า “ซินไบโอติก (Synbiotics)” นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  1. https://www.nonthavej.co.th/Probiotics.php
  2. http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0781/prebiotic
  3. https://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/probiotics-may-help-boost-mood-and-cognitive-function
  4. https://women.trueid.net/detail/X9dkEZdLQYGz
  5. Thantsha, M., Mamvura, C., & Booyens, J. (2012). Probiotics–what they are, their benefits and challenges. New Advances in the Basic and Clinical Gastroenterology, 21.
  6. Cryan, J. F., & Dinan, T. G. (2012). Mind-altering microorganisms: the impact of the gut microbiota on brain and behaviour. Nature reviews neuroscience, 13(10), 701-712.
  7. O’Mahony, S. M., Clarke, G., Borre, Y. E., Dinan, T. G., & Cryan, J. F. (2015). Serotonin, tryptophan metabolism and the brain-gut-microbiome axis. Behavioural brain research, 277, 32-48.

Share This Post

Share on facebook
Share on twitter

บทความที่เกี่ยวข้อง