เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยลง อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ก็ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องผูก ภาวะกลืนลำบาก เจ็บปวดตามข้อ โดยเฉพาะอาการปวดหลัง หรือปวดก้นกบ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ สร้างความเจ็บปวดและความรำคาญใจให้ผู้สูงอายุไม่น้อย อีกทั้งยังทำให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ
สัญญาณเตือนปวดหลังเรื้อรัง
โดยทั่วไปจะพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทางกายภาพ เพื่อยืนยันถึงสาเหตุอาการปวดหลังที่ไม่ปกติ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับแพทย์โดยการบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของอาการของโรคอยู่เสมอ หากมีอาการต่อไปนี้โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ประกอบด้วย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดหลังเฉพาะช่วงกลางคืนอย่างต่อเนื่อง มีไข้ ปัสสาวะลำบาก ขาอ่อนแรง และมีอาการปวดร้าวลงขา
สาเหตุอาการปวดหลังในผู้สูงอายุ
- ร่างกายที่เสื่อมถอยตามอายุ ยกของหนักเป็นประจำหรือทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ ตลอดเวลา
- ขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ หรือออกกำลังกายหักโหมหนักจนเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนัก เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและข้อต่อทำให้ปวดหลัง
- น้ำหนักตัวมากเกินไป ภาวะกระดูกพรุน กระดูกสันหลังเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
- โรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบ มะเร็ง ภาวะซึมเศร้าวิตกกังวล
- สูบบุหรี่บ่อย
- ที่นอนแข็งหรือนุ่มเกินไป รวมทั้งระดับความสูงของหมอนที่ไม่เหมาะสม
- ออฟฟิศซินโดรม นั่งทำงานท่าเดิมนานๆ หรือท่าทางในการเคลื่อนไหวผิดปกติ
ผลกระทบที่ตามมาจากอาการปวดหลังในผู้สูงอายุ
- นอนไม่หลับเพราะถูกรบกวนจากอาการปวดหลัง
- ทุกข์ใจ ทำให้เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
- บางรายที่ปวดจนไม่อยากเคลื่อนไหว อาจทำให้เกิดภาวะพึ่งพิงสูง คือ ทำให้ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพน้อยลง นอนติดเตียง ต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว และยังทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมาคือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเกิดแผลกดทับขึ้นได้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง
อาการปวดหลังในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงให้เกิดน้อยลงได้ด้วยการลดปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมทั้งปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างก็ช่วยลดอาการปวดหลังได้ คือ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการทำกิจกรรมที่ต้องก้มเงยบ่อย ๆ ออกกำลังกายเบา ๆ แต่ทำเป็นประจำ เคลื่อนไหวบ่อย ๆ ไม่นั่งอยู่กับที่นาน ๆ เลิกสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก
แนวทางการดูแลรักษา
ผู้สูงอายุหลายคนมักเกิดอาการปวดหลัง ปวดก้นกบ หรือปวดหลังล่างอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะนั่งหรือนอนพักเท่าไหร่ก็ไม่หายปวด วิธีบรรเทาอาการปวดหลังที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ด้วยตนเองง่าย ๆ ดังนี้
1.ประคบร้อน – ประคบเย็น
สำหรับผู้สูงอายุท่านไหนที่มีอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน แนะนำให้ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือ Ice pack ที่บริเวณหลังประมาณ 20 นาที ทำให้ลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น จึงช่วยลดอาการปวดได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังมานาน แนะนำให้ใช้วิธีการประคบร้อน ด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือจะเป็นการอาบหรือแช่น้ำร้อน ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
2.นอนราบแผ่นหลังติดพื้น
ให้ผู้สูงอายุนอนราบแผ่นหลังติดพื้น โดยให้หลังสัมผัสกับเตียงนอน แล้วใช้หมอนรองบริเวณใต้เข่า เพื่อให้หลังนาบไปกับเตียงมากขึ้น หรือหากใช้เตียงไฟฟ้า ให้ปรับฟังก์ชันเตียงเป็นท่าชันเข่า จากนั้นเกร็งหน้าท้องค้างไว้ประมาณ 10 วินาทีแล้วพัก ทำเช่นนี้ซ้ำ 2 – 3 ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังได้ยืดเหยียดและผ่อนคลาย ช่วยลดอาการปวดได้
ในกรณีปวดหลังส่วนล่างผู้สูงอายุนอนราบบนที่เตียงนอนหรือบนพื้น โดยให้หลังสัมผัสนาบไปกับพื้น จากนั้นค่อย ๆ ยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมา ใช้แขนรั้งขาค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นสลับมายกขาอีกข้าง โดยใช้วิธีเดียวกัน ทำซ้ำเช่นนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง ช่วยลดอาการปวดหลังบริเวณส่วนล่าง หรือบริเวณเอว ก้นกบ และสะโพก
กรณีปวดก้นกบ นอนตะแคงกอดหมอนข้างโดยจะนอนตะแคงด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ จากนั้นให้นำหมอนข้างมากอด (หากไม่มีหมอนข้าง ใช้เป็นหมอนหนุนแทนได้) โดยให้ขาและแขนก่ายพาดอยู่บนหมอน เพื่อไม่ให้ขาเบียดทับกัน ลดการปวดบริเวณสะโพกและหลัง และช่วยเพิ่มความดันในตับ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
3.รับประทานยาปวดหลังเรื้อรัง
ยาลดการอักเสบพื้นฐาน เช่น ไอบูโปรเฟน หรือแอสไพริน สามารถช่วยระงับอาการปวดและบวมบริเวณหลังได้ หากยาดังกล่าวออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ควรเปลี่ยนเป็น พาราเซตามอล หรือยาอื่นที่มีฤทธิ์ระคายเคืองน้อยกว่าทดแทน
4.กายภาพบำบัดกับการลดอาการปวดหลัง
แพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดกระดูกสันหลังในรายที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง กายภาพบำบัดกระดูกสันหลังช่วยฟื้นคืนสภาพความแข็งแรงและความสามารถในการเคลื่อนไหวและการประกอบกิจกรรม ประกอบไปด้วยการบริหารท่าพิเศษ อุปกรณ์บรรเทาอาการปวดหลัง (อัลตราซาวนด์ ความร้อน ความเย็น)
5.รักษาด้วยการผ่าตัด
เป็นการรักษาที่ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังเลือกใช้ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน อาทิเช่น มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือมีการกดทับเส้นประสาทจนเกิดการทำงานของเส้นประสาทผิดปกติ อ่อนแรง เดินไกลไม่ได้ เป็นต้น
6.การบริหารความเครียด
แรงกดดันจากครอบครัว การงาน การเงินสามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้ การบริหารความเครียดอย่างถูกวิธีในแต่ละวันนั้นสามารถช่วยฟื้นฟูอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี
7.การปรับเปลี่ยนอิริยาบถ การนอน และน้ำหนักตัว
ในชีวิตประจำวันจะช่วยป้องกันและลดอาการปวดหลังได้ อิริยาบถที่ถูกสุขลักษณะทำได้โดยการเลือกใช้เก้าอี้ที่มีพนักพิง ซึ่งเหมาะสมกับแผ่นหลัง หรือจัดหาหมอนมาหนุนบริเวณหลังไว้ เวลานั่งให้หลังพิงพอดี เท้าทั้งสองข้างวางบนพื้น หรือเปลี่ยนอิริยาบถท่านั่งบ่อย ๆ ก็สามารถช่วยได้ เวลานอน หากนอนท่าหงายควรใช้หมอนหนุนใต้หัวเข่า หากนอนท่าตะแคงการใช้หมอนรองระหว่างขาสองข้างก็เป็นอีกวิธีที่มีประโยชน์มาก ไม่ควรใช้ฟูกฟองน้ำหรือเตียงสปริง เพราะหลังจะจมอยู่ในแอ่ง ทำให้กระดูกสันหลังแอ่น ปวดหลังเพิ่มขึ้นได้ โรคอ้วน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพิ่มแรงกดทับให้แก่หลัง การลดน้ำหนักสามารถลดอาการและป้องกันการปวดหลังได้
ทางเลือกของการออกกำลังกายในผู้ที่มีอาการปวดหลัง
จากคุณสมบัติในเรื่องแรงลอยตัวของน้ำ ช่วยพยุงร่างกายให้ลอยและช่วยลดแรงกระทำต่อกระดูกและข้อต่อที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยเพิ่มการทรงตัว และน้ำมีแรงต้านในทิศทางที่ตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยแปรตามความเร็วของการเคลื่อนไหวในน้ำและพื้นที่หน้าตัดของร่างกายที่สัมผัสกับน้ำในทิศทางนั้นๆ และแรงดันของน้ำ จะช่วยให้เลือดดำมีการไหลเวียนกลับมาที่หัวใจมากขึ้น จากคุณสมบัติของน้ำสามารถช่วยเสริมสร้างการความแข็งแรง ความอดทน และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายในน้ำลึกจะสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวได้เป็นอย่างดี และมีความความปลอดภัยสูง ตัวอย่างท่าทางการออกกำลังกายในน้ำ เช่น
ท่าการเดินในน้ำตื้น
ท่าบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องในน้ำลึก
ท่าบริหารกล้ามเนื้อลำตัวในน้ำลึก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.nakornthon.com/physician/detail/293
https://kinrehab.com/news/view/94
https://www.phyathai.com/article_detail/3379
https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/112